.

กระดาษจั่วปัง เป็นกระดาษที่ถูกใช้ในการพิมพ์งาน การเขียน หรือผ่านการใช้งานต่าง ๆ แล้วถูกนำมาขายทิ้งเป็นเศษกระดาษ จนกระทั่งได้มีการรวบรวมเศษกระดาษเหล่านี้มาจากแหล่งต่าง ๆ ป้อนเข้าโรงงานผลิตกระดาษ เพื่อทำการแปรรูป และนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง เราเรียกกระบวนการนี้ว่า การรีไซเคิล (Recycle) โดยการนำกระดาษที่ผ่านการใช้งานนี้มาปรับแต่งด้วยการแช่น้ำ บด ปั่นแหลก ให้เป็นอณูชิ้นเล็กที่สุด เพื่อกำจัดพื้นผิวภายนอก เช่น เคมี หมึก น้ำยาต่าง ๆ แล้วกรองออก เหลือเพียงเยื่อกระดาษที่ผ่านการแช่น้ำจนยุ่ย แล้วนำเอาเยื่อเหล่านี้มาปรับใส่สารเติมแต่งบางอย่างเพื่อให้มีความคงตัวเพิ่มขึ้นและแข็งตัวได้ดี จากนั้นจึงนำมาผลิตเป็นกระดาษเพื่อการใช้ซ้ำอีกครั้ง


เรามักจะเห็นเป็นแผ่นกระดาษแข็ง ๆ สีเทา ๆ ซึ่งในต่างประเทศจะเรียกกระดาษแบบนี้ว่า Grey Board ส่วนบ้านเรามักจะเรียกติดปากกันว่า กระดาษจั่วปัง (纸板) อันเป็นคำที่มาจากภาษาจีน โดย จั้ว (纸) แปลว่า กระดาษ ปัง (板) แปลว่า แข็ง รวมคำกันเป็นคำว่า กระดาษแข็ง สมัยก่อนในเมืองจีน โรงงานผลิตสินค้าประเภทพวกเครื่องสำอาง จะนำเอากระดาษแข็งชนิดนี้มาดัดแปลงทำเป็นกล่องสำหรับใส่แป้งขาว (สมัยนี้ก็เทียบได้กับแป้งพัฟที่คุณผู้หญิงใช้กันอยู่) สำหรับทาหน้าของผู้หญิง เลยเป็นที่มาของคำว่า จั่วปัง ในภาษาจีน นานวันผ่านไป เมืองไทยก็มีการนำเอากระดาษแข็งแบบนี้มาทำเป็นกล่อง แต่ยังไม่มีคำเรียกเฉพาะ ก็เลยเรียกทับศัพท์ไปว่าเป็นกล่องจั่วปัง จึงกลายเป็นสรรพนามสำหรับกล่องชนิดนี้ไปแล้ว ซึ่งเรียกขานปุ๊บ คนก็จะเข้าใจกันปั๊บ
image
สำหรับความหนาของกระดาษจั่วปัง ที่เห็นกันในตลาด ผู้ค้าจะเริ่มต้นกันตามคำเรียกขานว่า เบอร์ 8 เบอร์ 10, 12, 16, 20, 24, 32 จนถึงความหนาเบอร์ที่สุดขณะนี้ คือ เบอร์ 42 หากเทียบเป็นน้ำหนักของกระดาษ ก็จะได้ข้อมูลดังต่อไปนี้:

N0.8  หนา 0.70 mm. หนัก 420 g./แผ่น
N0.10 หนา 0.85 mm. หนัก 510 g./แผ่น
N0.12 หนา 1.03 mm. หนัก 640 g./แผ่น
N0.16 หนา 1.40 mm. หนัก 820 g./แผ่น
N0.20 หนา 1.70 mm. หนัก 1,000 g./แผ่น
N0.24 หนา 2.00 mm. หนัก 1,290 g./แผ่น
N0.28 หนา 2.40 mm. หนัก 1,500 g./แผ่น
N0.32 หนา 2.80 mm. หนัก 1,670 g./แผ่น
N0.38 หนา 3.10 mm. หนัก 1,820 g./แผ่น
N0.42 หนา 3.40 mm. หนัก 2,110 g./แผ่น

ขนาดการบรรจุ มักจะเรียกขานกันเป็นก้อน หรือบางครั้งก็เรียกเป็นรีม แต่ในหนึ่งก้อนหรือหนึ่งรีมนั้น จำนวนแผ่นจะไม่เท่ากัน การจัดบรรจุนี้ โรงงานผู้ผลิตจะกำหนดขนาดบรรจุเป็นน้ำหนักต่อกิโลกรัม โดยให้แต่ละก้อนมีน้ำหนักประมาณ 45 กิโลกรัม จากที่เคยสำรวจข้อมูลไว้ พบว่า:

N0.8 หนา 0.70 mm. มีจำนวนก้อนละประมาณ 105-110 แผ่น
N0.10 หนา 0.85 mm. มีจำนวนก้อนละประมาณ 90-95 แผ่น
N0.12 หนา 1.03 mm. มีจำนวนก้อนละประมาณ 70-79 แผ่น
N0.16 หนา 1.40 mm. มีจำนวนก้อนละประมาณ 55-60แผ่น
N0.20 หนา 1.70 mm. มีจำนวนก้อนละประมาณ 45-48แผ่น
N0.24 หนา 2.07 mm. มีจำนวนก้อนละประมาณ 35-38แผ่น
N0.28 หนา 2.40 mm. มีจำนวนก้อนละประมาณ 30-33แผ่น
N0.32 หนา 2.80 mm. มีจำนวนก้อนละประมาณ 27-30แผ่น
N0.38 หนา 3.10 mm. (แกรมนี้มักจะเป็นของนำเข้าจากต่างประเทศ หรืออาจต้องปะกบขึ้นตามคำสั่งผลิตพิเศษ ซึ่งมักมีข้อกำหนดการสั่งขั้นต่ำในการผลิตด้วย)
กระดาษจั่วปัง N0.42 หนา 3.40 mm. (แกรมนี้มักจะเป็นของนำเข้าจากต่างประเทศ หรืออาจต้องปะกบขึ้นตามคำสั่งผลิตพิเศษ ซึ่งมักมีข้อกำหนดการสั่งขั้นต่ำในการผลิตด้วย)


นอกจากนี้ ยังอาจสามารถสั่งกระดาษเป็นขนาดพิเศษ 31″ x 43″ ได้ด้วย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ผลิตจะมีที่ความหนาของกระดาษจั่วปังไว้ในสต๊อคหรือไม่
การใช้งานตามความหนาของกระดาษจั่วปัง

เรามักพบเห็นการใช้กระดาษแข็งจั่วปัง เบอร์ 8 จนถึงเบอร์ 10 ใช้พิมพ์หรือผลิตเป็นแผ่นป้ายแขวน ป้ายราคา กระดาษแข็งจั่วปังเบอร์ 12, 16 มักจะเห็นนำมาผลิตเป็นขาตั้งแป้นปฏิทินตั้งโต๊ะ หรือติดแผ่นป้ายโฆษณา กระดาษแข็งจั่วปังเบอร์ 20, 24 มักจะเห็นนำไปทำเป็นปกหนังสือปกแข็ง หรือแผ่นปกสำหรับประกาศนียบัตร ปริญญาบัตรต่างๆ ที่เห็นหุ้มด้วยผ้าไหมหรือผ้าสังเคราะห์แบบต่าง ๆ นั่นล่ะ หรือบางทีความหนาแบบนี้ก็นำมาทำเป็นกล่องกระดาษแข็ง แล้วหุ้มด้วยกระดาษพิมพ์ลายกราฟิก หรือ กระดาษแฟนซีสวย ๆ ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสวยงาม เป็นต้น

เบอร์ที่หนาขึ้นก็มีการนำไปใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เช่น อาจนำไปผลิตเป็นกระเป๋า (กระดาษแข็ง) เอกสาร หรือ ปกแฟ้มกันเลย นอกจากนี้ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ นักคิด นักออกแบบอื่นๆ ก็อาจกำหนดให้กระดาษแข็งจั่วปังเป็นไส้ใน แล้วห่อหุ้มด้วยวัสดุที่เลือกสรร ประกอบกันขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์แบบต่างๆ เช่น เป็นกล่องกึ่งปกแฟ้ม หรือ กล่องบรรจุเหล้า เครื่องดื่มสุราที่มีแบรนด์ มีตราดัง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าหรู เป็นต้น


ซึ่งคุณสมบัติที่หนาแข็งแรงนี้ ทำให้เกิดเป็นโครงสร้างภายในหรือไส้ในที่แข็งแรงเพียงพอที่จะปกป้องสินค้าที่มีความบอบบาง หรือชำรุดแตกหักได้ง่ายได้ดี ด้วยการออกแบบถาดรับ หรือชิ้นวางที่กระชับ แข็งแรง สามารถโอบอุ้มและป้องกันสินค้าภายในได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่ตัวหุ้มผิวนอก ก็อาจใช้วัสดุที่ปรับแต่งให้สวยงาม เช่น กระดาษที่พิมพ์ไว้อย่างสวยงาม หรือวัสดุสังเคราะห์ที่มีความเหนียวหยุ่น ทนทาน มาหุ้มเพื่อให้เกิดความสวยงาม ทำให้ได้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ดูดี มีความหรู และทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้ายกระดับความมีคุณค่าได้อีกด้วย

ลักษณะกล่อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้