การพิมพ์ระบบเล็ตเตอร์เพรส

Last updated: 19 ต.ค. 2566  |  600 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การพิมพ์ระบบเล็ตเตอร์เพรส

เป็นวิธีพิมพ์ระบบเก่าแก่ คิดค้นโดย โยฮานน์ กูเตนเบิร์ก (Johann Gutenberg) เมื่อราว 500 ปีก่อน ซึ่งเป็นระบบการพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์โลหะที่เรียกว่า “ตัวตะกั่ว” โดยทำแม่พิมพ์จากโลหะเป็นตัวอักษรแล้วนำมาเรียงเป็นคำ เป็นประโยค ทำให้สามารถถอดนำมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งวิธีนี้ทำให้สามารถสร้างแม่พิมพ์ได้อย่างรวดเร็ว แทนการแกะสลักแม่พิมพ์จากไม้ และการพิมพ์ด้วยวิธีนี้ก็ทำให้การพิมพ์เข้าสู่ยุครุ่งเรือง สามารถทำหนังสือได้จำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ความรู้ต่าง ๆ สามารถส่งต่อไปได้ดีขึ้น  

ในประเทศไทยการพิมพ์ชนิดนี้ก็เป็นที่นิยมและใช้การอย่างแพร่หลาย โดยผู้ที่นำการพิมพ์วิธีนี้เข้ามาคือ หมอบรัดเลย์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 จากนั้นเป็นต้นมา การพิมพ์ของไทยก็พัฒนาเรื่อยมา เกิดโรงพิมพ์ขึ้นมามากมาย เกิดอาชีพช่างพิมพ์ และช่างเรียงพิมพ์ คือผู้ที่มีหน้าที่เรียงตัวตะกั่วให้เป็นคำ ประโยค เป็นหน้า ๆ ซึ่งต้องใช้ผู้ที่สามารถอ่านหนังสือตัวกลับได้รวดเร็ว และถูกต้อง โดยในสมัยนั้นโรงพิมพ์ที่มีชื่อสร้างหลายโรงอยู่ที่เยาวราช เช่น โรงพิมพ์บุ้นเม้ง และงานส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีพิมพ์ด้วยตัวตะกั่วจากฝีมือช่างเรียงพิมพ์

การพิมพ์เล็ตเตอร์เพรส (Letterpress printing) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า การพิมพ์ระบบตัวเรียง เป็นเทคนิคหนึ่งในกลุ่มการพิมพ์พื้นนูน ให้บริเวณส่วนนูนของแม่พิมพ์ทำหน้าที่รับหมึกแล้วถ่ายโอนไปยังวัสดุที่ใช้พิมพ์โดยตรง (Direct printing) ด้วยแรงกดที่เหมาะสม ต่างจะระบบพิมพ์ออฟเซตที่แม่พิมพ์จะต้องถ่ายโอนหมึกผ่านผ้ายางก่อนไปยังวัสดุใช้พิมพ์ (Indirect printing) ในอดีตเราเรียกระบบพิมพ์นี้ว่าระบบตัวเรียง เพราะแม่พิมพ์ประกอบขึ้นจากการนำตัวเรียงพิมพ์เป็นตัว ๆ มาเรียงกันเป็นแถวให้ได้เป็นหน้าพิมพ์ จากนั้นนำไปติดตั้งบนเครื่องพิมพ์ ตัวพิมพ์เหล่านี้มีส่วนผสมจากโลหะผสม ดีบุก พลวง และตะกั่ว สามารถนำแม่พิมพ์กลับมาใช้ได้อีก ต่อมามีการพัฒนาขึ้นโดยการนำเครื่องจักรมาช่วยทุ่นแรง ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น เช่น ไลโนไทป์ (Linotype) และโมโนไทป์ (Monotype) โดยที่เครื่องแบบไลโนไทป์จะหล่อตัวเรียงพิมพ์ติดกันเรียงแถวเป็นบรรทัด หากต้องการแก้ไข ไม่สามารถแก้ไขเป็นรายตัวอักษรได้ ในขณะที่เครื่องแบบโมโนไทป์เป็นการหล่อตัวเรียงพิมพ์ทีละตัวอักษร แล้วนำมาเรียงเป็นบรรทัดอัตโนมัติ สามารถแก้ไขข้อความในภายหลังได้ จนกระทั่งในปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านเพอลิเมอร์ไวแสงได้ถูกนำมาใช้แทนโลหะผสมที่เป็นอันตรายต่อช่างหล่อและช่างพิมพ์ และได้ใช้กันแพร่หลายโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทำให้การใช้ตัวเรียงพิมพ์และการกัดบล็อกพิมพ์ได้กลายเป็นอดีตไปแล้วในวงการพิมพ์ และที่สำคัญของนวัตกรรมแม่พิมพ์พอลิเมอร์นี้ เป็นสิ่งผลักดันให้เทคโนโลยีการพิมพ์เล็ตเตอร์เพรสเปลี่ยนบทบาทตัวเองอีกครั้ง ด้วยการไปสนับสนุนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และฉลาก แทนการพิมพ์หนังสือ เอกสารทั่วไป แผ่นปลิว และนามบัตร

นอกจากโรงพิมพ์แล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็เกิดขึ้นเช่นกัน ได้แก่ สำนักพิมพ์ แกลเลอรี และหนังสือพิมพ์ เป็นต้น จนกระทั่งในศตวรรษที่ 20 การพิมพ์ระบบออฟเซ็ทได้เริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดงานพิมพ์เล็ตเตอร์เพรส จนถึงปัจจุบันด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบพิมพ์ออฟเซ็ทที่เหนือกว่า

แม้ปัจจุบันจะมีระบบพิมพ์ที่ทันสมัยมากมาย ทำให้เลตเตอร์เพรสมีบทบาทสำคัญน้อยลง และเนื่องจากการทำแม่พิมพ์ลำบาก ใช้เวลานานในการเรียงตัวอักษรให้เป็นคำ หากแต่ภาพที่ได้นั้นกลับดูแปลกตา คงความคลาสสิค มีความเหลื่อมของหมึกให้เห็น อันเป็นเอกลักษณ์และสเน่ห์เฉพาะตัวของการพิมพ์ระบบนี้ ทำให้ระบบเลตเตอร์เพรสได้ถูกนำกลับมาใช้อีก ด้วยรูปแบบการพิมพ์ที่ใช้ความปราณีต เน้นความชำนาญ และต้องทำด้วยมือ เป็นความไม่สมบูรณ์ที่น่าหลงใหล เหมาะกับงานที่เน้นความเป็นศิลปะ อาจใช้ทำนามบัตร หรือการ์ดแต่งงานที่ต้องการความพิเศษ และรูปแบบที่การพิมพ์สมัยใหม่ให้ไม่ได้ ช่วยสร้างภาพจำให้กับชิ้นงาน นอกจากนี้สามารถประยุกต์ไปใช้กับงานปั้มนูน พิมพ์ทอง ตีเบอร์ ไดคัท และปั้มฟอยด์ได้อีกด้วย


ข้อเสียของระบบเล็ตเตอร์เพรส
1. มีจำนวนพิมพ์ไม่เกิน 2,000-3,000 ชุด
2. ไม่ต้องการคุณภาพสูงมาก
3. มีภาพประกอบน้อย
4. ไม่ควรเป็นงานพิมพ์หลายสี
5. ต้องมีเวลาทำงานพิมพ์นานพอสมควร
6. มีงบประมาณในการพิมพ์จำกัด

 

  Back to all Blog

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้